รู้จักกับ “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก (Heat Stroke)” ในสุนัข

 
 
 

"โรคลมแดด" หรือ "ฮีทสโตรก (Heat Stroke)" โรคนี้เกิดจากอากาศที่มีอุณหภูมิสูง ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยงต่างก็เสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยด้วยกันทั้งนั้น และโดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงแสนรักที่พูดไม่ได้ อย่างน้องหมาที่อาจเสี่ยงต่ออาการ โรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดที่อาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงในสุนัข คือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าระดับปกติ โดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิร่างกายสุนัขอยู่ที่ประมาณ 103 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 39 องศาเซลเซียส โรคลมแดดนั้นถือเป็นภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติชนิดหนึ่ง โดยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเป็นไข้ โดยมักเกิดจากการที่สุนัขอยู่ในที่ๆ มีอุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานานๆ ภาวะขาดน้ำ และโดยเฉพาะสถานที่ที่ปิดทึบและมีอุณหภูมิสูงกว่า 41 องศาเซลเซียส จะทำให้สุนัขมีโอกาสเป็นโรคลมแดดได้ง่าย โดยโรคลมแดดถือว่าเป็นภาวะที่อันตรายมากเพราะจะทำให้อวัยวะหลายส่วนล้มเหลวรวมไปถึงเสียชีวิต

นอกจากนี้ภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่นเกิดจากการเป็นไข้สูงร่วมกับการอักเสบในร่างกาย ส่วนอาการอุณหภูมิร่างกายสูงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเป็นไข้นั้นสามารถพบได้ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่ขนยาวได้ง่ายกว่าสุนัขพันธุ์เล็กขนสั้น รวมไปถึงเหล่าสุนัขหน้าสั้น เช่น อิงลิชบูลด็อก เฟร้นช์ บูลด็อก หรือปั๊ก เพราะสุนัขพันธุ์เหล่านี้จะระบายความร้อนทางด้านการหายใจได้ไม่ดีนั่นเอง

อาการของโรคลมแดด (Heat Stroke)


โดยปกติภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เกิดจากไข้และไม่เกิดจากไข้ ซึ่งในประเภทที่ไม่เกิดจากไข้นั้น โรคลมแดดเป็นภาวะที่พบได้มากที่สุด และมีอาการดังต่อไปนี้
  • หอบหายใจ
  • มีกลิ่นปากแรง
  • ลมหายใจร้อนผิดปกติ
  • ขาดน้ำ / แห้งน้ำ (Dehydration)
  • น้ำลายไหลมาก
  • อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นสูง (สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส)
  • เหงือกสีแดงก่ำ
  • ปัสสาวะน้อยหรือแทบไม่ปัสสาวะเลย
  • เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นสูงและหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
  • มีภาวะช็อก
  • อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ
  • มีของเหลวในปอด
  • เกิดภาวะเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย
  • อาเจียนออกมาเป็นเลือด
  • พบเลือดในลำไส้ใหญ่หรือถ่ายอุจจาระออกมาเป็นเลือด
  • เกิดจุดเลือดออกตามผิวหนังทั่วร่างกาย
  • เกิดภาวะอักเสบทั่วร่างกาย
  • อาจพบว่าเซลล์ตับตาย
  • ชัก
  • กล้ามเนื้อสั่นกระตุก
  • เดินไม่ตรง หรือเดินโซเซไปมา
  • หมดสติ


สาเหตุที่ทำให้สุนัขมีภาวะอุณหภูมิร่างกายสูง


  • สุนัขอยู่ในสถานที่ร้อนมากเกินไปและมีความชื้นสูง โดยเฉพาะพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในรถ หรือในห้องปิดทึบ
  • ทางเดินหายใจส่วนบนของสุนัขเกิดการอุดตัน ทำให้หายใจได้ไม่ดี ส่งผลให้ระบายความร้อนจากการหายใจได้ช้าลง
  • ปัจจัยเสี่ยงร่วมอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโรคลมแดดคือ มีภาวะอัมพาตของคอหอยและกล่องเสียง มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดและระบบประสาท มีโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ หรือเคยมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจมาก่อน
  • ได้รับสารพิษบางประเภท เช่น สาร strychnine
  • ผลข้างเคียงจากการวางยาสลบ
  • ออกกำลังกายอย่างหนักเกินไป

  • ปัจจัยเสี่ยง

  • มีประวัติว่าเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน
  • อยู่ในช่วงลูกสุนัข หรือเป็นสุนัขที่มีอายุมาก
  • มีภาวะอ้วน
  • มีปัญหาด้านการหายใจ หายใจได้ไม่ดี หรือปอดทำงานได้ไม่สมบูรณ์
  • เป็นสุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น ปั๊ก หรือ อิงลิช บูลด็อก เฟร้นช์ บูลด๊อก
  • เป็นสุนัขพันธุ์ที่มีขนหนา เช่น ไซบีเรียน ฮัสกี้ อลาสกัน เมลามิวท์ เซนต์เบอร์นาร์ด ปอมเมอร์เรเนียน
  • มีภาวะขาดน้ำ ได้รับน้ำไม่เพียงพอ

  • วิธีสังเกตอาการ Heat Stroke


    1.อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น เมื่อเราเอามือไปสัมผัสตัวของน้องหมาก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่ร้อนผิดปกติ หากไม่แน่ใจ ให้เช็คอุณหภูมิโดยการนำปรอทวัดไข้มาวัด ซึ่งอุณหภูมิปกติจะอยู่ที่ 38-39 องศาเซลเซียส หากเกินกว่านี้ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
    2.บางตัวมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด
    3.เหงือกจะสีแดงเข้ม บางตัวอาจมีเลือดออกเป็นจุดตามลำตัว และอาจมีน้ำลายไหลเยอะ หายใจถี่ปนหอบ ควรให้น้องจิบน้ำทุกๆ 5 นาที หากอยู่ในที่ร้อนจัด
    4.ผิวหนังไม่ยืดหยุ่น

    แนวทางการรักษากรณีสุนัขมีภาวะอุณหภูมิร่างกายสูง


    สิ่งสำคัญที่สุดของการรักษาภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงคือต้องรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าพบว่าสุนัขกำลังมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เพราะว่าอยู่ในห้องที่ร้อน ขั้นแรกคือรีบพาสุนัขไปในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทและอุณหภูมิต่ำกว่าทันที
    การช่วยลดอุณหภูมิร่างกายสุนัขทำได้อยู่หลายวิธี เช่น การเช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น แล้วเป่าตัวให้แห้งร่วมด้วย อย่าลืมตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกายของสุนัข เพราะไม่ควรลดอุณหภูมิร่างกายสุนัขให้ลดลงต่ำกว่า 103 องศาฟาเรนไฮด์

    เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญคือไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัด หรือแช่สุนัขลงในน้ำเย็นทั้งตัว เพราะจะทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว ส่งผลให้ความร้อนถูกกักเก็บไว้ในร่างกายเช่นเดิม และเมื่อสุนัขอาการเริ่มดีขึ้นแล้ว ให้ค่อยๆ ให้กินน้ำเย็น แต่อย่าให้กินน้ำเย็นจัด เพื่อให้สุนัขค่อยๆ ได้ปรับลดอุณหภูมิในร่างกายต่อ แต่ก็ไม่ต้องฝืนบังคับให้สุนัขกินน้ำ

    อย่าลืมให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกายสุนัขอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิร่างกายกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว เพื่อดูว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในหรือไม่ เพราะบางครั้งสุนัขอาจเกิดภาวะเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย สมองบวมน้ำ หรือมีภาวะไตวายขณะตอนเป็นโรคลมแดดได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

    ส่วนในกรณีที่สุนัขอาการทรุดลงหลังเกิดภาวะลมแดด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ควรให้หน้ากากออกซิเจน หรือสอดท่อช่วยหายใจ ในกรณีสัตว์หายใจเองลำบาก

    การป้องกันสุนัขจาก Heat Stroke

    หลักการที่ง่ายที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงจากโรคลมแดด คือ ให้สุนัขอยู่ในที่ๆ อากาศถ่ายเทสะดวกและไม่ร้อนจนเกินไป ถ้าในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงมากอย่างในประเทศไทย ควรหาวิธีคลายร้อนให้สุนัข โดยอาจจะเป็นการเปิดพัดลม หรือให้สุนัขอยู่ในห้องแอร์
    โดยเฉพาะหากสุนัขของคุณเป็นสุนัขที่มีอายุมากหรือเป็นสุนัขพันธุ์หน้าสั้นที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดอยู่แล้ว พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขอยู่ในตำแหน่งในบ้านที่อุณหภูมิสูงในตอนกลางวัน เช่น โรงรถ หรือสนามหน้าบ้าน แต่ควรให้อยู่ในร่มที่มีอากาศพัดผ่านสะดวกแทน และห้ามทิ้งสุนัขไว้ในรถกลางแดดจัดเด็ดขาด แม้จะเป็นเวลาเพียงแค่ครู่เดียวเท่านั้นก็ตาม
     

    Pin It on Pinterest