"โรคลมแดด" หรือ "ฮีทสโตรก (Heat Stroke)" โรคนี้เกิดจากอากาศที่มีอุณหภูมิสูง ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยงต่างก็เสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยด้วยกันทั้งนั้น และโดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงแสนรักที่พูดไม่ได้ อย่างน้องหมาที่อาจเสี่ยงต่ออาการ โรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดที่อาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงในสุนัข คือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าระดับปกติ โดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิร่างกายสุนัขอยู่ที่ประมาณ 103 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 39 องศาเซลเซียส
โรคลมแดดนั้นถือเป็นภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติชนิดหนึ่ง โดยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเป็นไข้ โดยมักเกิดจากการที่สุนัขอยู่ในที่ๆ มีอุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานานๆ ภาวะขาดน้ำ และโดยเฉพาะสถานที่ที่ปิดทึบและมีอุณหภูมิสูงกว่า 41 องศาเซลเซียส จะทำให้สุนัขมีโอกาสเป็นโรคลมแดดได้ง่าย โดยโรคลมแดดถือว่าเป็นภาวะที่อันตรายมากเพราะจะทำให้อวัยวะหลายส่วนล้มเหลวรวมไปถึงเสียชีวิต
นอกจากนี้ภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่นเกิดจากการเป็นไข้สูงร่วมกับการอักเสบในร่างกาย
ส่วนอาการอุณหภูมิร่างกายสูงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเป็นไข้นั้นสามารถพบได้ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่ขนยาวได้ง่ายกว่าสุนัขพันธุ์เล็กขนสั้น รวมไปถึงเหล่าสุนัขหน้าสั้น เช่น อิงลิชบูลด็อก
เฟร้นช์ บูลด็อก หรือปั๊ก เพราะสุนัขพันธุ์เหล่านี้จะระบายความร้อนทางด้านการหายใจได้ไม่ดีนั่นเอง
อาการของโรคลมแดด (Heat Stroke)
โดยปกติภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เกิดจากไข้และไม่เกิดจากไข้ ซึ่งในประเภทที่ไม่เกิดจากไข้นั้น โรคลมแดดเป็นภาวะที่พบได้มากที่สุด และมีอาการดังต่อไปนี้
- หอบหายใจ
- มีกลิ่นปากแรง
- ลมหายใจร้อนผิดปกติ
- ขาดน้ำ / แห้งน้ำ (Dehydration)
- น้ำลายไหลมาก
- อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นสูง (สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส)
- เหงือกสีแดงก่ำ
- ปัสสาวะน้อยหรือแทบไม่ปัสสาวะเลย
- เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
- อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นสูงและหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
- มีภาวะช็อก
- อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ
- มีของเหลวในปอด
- เกิดภาวะเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย
- อาเจียนออกมาเป็นเลือด
- พบเลือดในลำไส้ใหญ่หรือถ่ายอุจจาระออกมาเป็นเลือด
- เกิดจุดเลือดออกตามผิวหนังทั่วร่างกาย
- เกิดภาวะอักเสบทั่วร่างกาย
- อาจพบว่าเซลล์ตับตาย
- ชัก
- กล้ามเนื้อสั่นกระตุก
- เดินไม่ตรง หรือเดินโซเซไปมา
- หมดสติ
สาเหตุที่ทำให้สุนัขมีภาวะอุณหภูมิร่างกายสูง
สุนัขอยู่ในสถานที่ร้อนมากเกินไปและมีความชื้นสูง โดยเฉพาะพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในรถ หรือในห้องปิดทึบ
ทางเดินหายใจส่วนบนของสุนัขเกิดการอุดตัน ทำให้หายใจได้ไม่ดี ส่งผลให้ระบายความร้อนจากการหายใจได้ช้าลง
ปัจจัยเสี่ยงร่วมอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโรคลมแดดคือ มีภาวะอัมพาตของคอหอยและกล่องเสียง มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดและระบบประสาท มีโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ หรือเคยมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจมาก่อน
ได้รับสารพิษบางประเภท เช่น สาร strychnine
ผลข้างเคียงจากการวางยาสลบ
ออกกำลังกายอย่างหนักเกินไป
ปัจจัยเสี่ยง
มีประวัติว่าเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน
อยู่ในช่วงลูกสุนัข หรือเป็นสุนัขที่มีอายุมาก
มีภาวะอ้วน
มีปัญหาด้านการหายใจ หายใจได้ไม่ดี หรือปอดทำงานได้ไม่สมบูรณ์
เป็นสุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น ปั๊ก หรือ อิงลิช บูลด็อก เฟร้นช์ บูลด๊อก
เป็นสุนัขพันธุ์ที่มีขนหนา เช่น ไซบีเรียน ฮัสกี้ อลาสกัน เมลามิวท์ เซนต์เบอร์นาร์ด ปอมเมอร์เรเนียน
มีภาวะขาดน้ำ ได้รับน้ำไม่เพียงพอ
วิธีสังเกตอาการ Heat Stroke
1.อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น เมื่อเราเอามือไปสัมผัสตัวของน้องหมาก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่ร้อนผิดปกติ หากไม่แน่ใจ ให้เช็คอุณหภูมิโดยการนำปรอทวัดไข้มาวัด ซึ่งอุณหภูมิปกติจะอยู่ที่ 38-39 องศาเซลเซียส หากเกินกว่านี้ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
2.บางตัวมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด
3.เหงือกจะสีแดงเข้ม บางตัวอาจมีเลือดออกเป็นจุดตามลำตัว และอาจมีน้ำลายไหลเยอะ หายใจถี่ปนหอบ ควรให้น้องจิบน้ำทุกๆ 5 นาที หากอยู่ในที่ร้อนจัด
4.ผิวหนังไม่ยืดหยุ่น
แนวทางการรักษากรณีสุนัขมีภาวะอุณหภูมิร่างกายสูง
สิ่งสำคัญที่สุดของการรักษาภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงคือต้องรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าพบว่าสุนัขกำลังมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เพราะว่าอยู่ในห้องที่ร้อน ขั้นแรกคือรีบพาสุนัขไปในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทและอุณหภูมิต่ำกว่าทันที
การช่วยลดอุณหภูมิร่างกายสุนัขทำได้อยู่หลายวิธี เช่น การเช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น แล้วเป่าตัวให้แห้งร่วมด้วย อย่าลืมตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกายของสุนัข เพราะไม่ควรลดอุณหภูมิร่างกายสุนัขให้ลดลงต่ำกว่า 103 องศาฟาเรนไฮด์
เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญคือไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัด หรือแช่สุนัขลงในน้ำเย็นทั้งตัว เพราะจะทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว ส่งผลให้ความร้อนถูกกักเก็บไว้ในร่างกายเช่นเดิม และเมื่อสุนัขอาการเริ่มดีขึ้นแล้ว ให้ค่อยๆ ให้กินน้ำเย็น แต่อย่าให้กินน้ำเย็นจัด เพื่อให้สุนัขค่อยๆ ได้ปรับลดอุณหภูมิในร่างกายต่อ แต่ก็ไม่ต้องฝืนบังคับให้สุนัขกินน้ำ
อย่าลืมให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกายสุนัขอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิร่างกายกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว เพื่อดูว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในหรือไม่ เพราะบางครั้งสุนัขอาจเกิดภาวะเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย สมองบวมน้ำ หรือมีภาวะไตวายขณะตอนเป็นโรคลมแดดได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
ส่วนในกรณีที่สุนัขอาการทรุดลงหลังเกิดภาวะลมแดด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ควรให้หน้ากากออกซิเจน หรือสอดท่อช่วยหายใจ ในกรณีสัตว์หายใจเองลำบาก
การป้องกันสุนัขจาก Heat Stroke
หลักการที่ง่ายที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงจากโรคลมแดด คือ ให้สุนัขอยู่ในที่ๆ อากาศถ่ายเทสะดวกและไม่ร้อนจนเกินไป ถ้าในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงมากอย่างในประเทศไทย ควรหาวิธีคลายร้อนให้สุนัข โดยอาจจะเป็นการเปิดพัดลม หรือให้สุนัขอยู่ในห้องแอร์
โดยเฉพาะหากสุนัขของคุณเป็นสุนัขที่มีอายุมากหรือเป็นสุนัขพันธุ์หน้าสั้นที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดอยู่แล้ว พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขอยู่ในตำแหน่งในบ้านที่อุณหภูมิสูงในตอนกลางวัน เช่น โรงรถ หรือสนามหน้าบ้าน แต่ควรให้อยู่ในร่มที่มีอากาศพัดผ่านสะดวกแทน และห้ามทิ้งสุนัขไว้ในรถกลางแดดจัดเด็ดขาด แม้จะเป็นเวลาเพียงแค่ครู่เดียวเท่านั้นก็ตาม